เงื่อนไขการนำไข่ฟักหรือลูกสัตว์ปีกเข้าในราชอาณาจักร
1. จะต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์เป็นภาษาอังกฤษที่ลงนามรับรองโดยสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก โดยมีรายละเอียดการรับรองดังนี้
1.1 จำนวน พันธุ์ สายพันธุ์ และเครื่องหมายที่ภาชนะบรรจุไข่ฟักหรือลูกสัตว์ปีก
1.2 เพศของลูกสัตว์ปีก
1.3 รุ่นสายพันธุ์และวัตถุประสงค์ที่นำเข้า (เพื่อการค้าหรือนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์)
1.4 ชื่อและที่อยู่ของสถานที่ต้นทางหรือโรงฟัก
1.5 ชื่อและที่อยู่ของเจ้าของหรือผู้ส่งออกและผู้รับปลายทาง
1.6 การรับรองตามเงื่อนไขตั้งแต่ข้อ 3 ถึง ข้อ 9
2. มีใบรับรองพันธุ์ประวัติหรือสายพันธุ์ (Pedigree Certificate) กำกับมาพร้อมกับสัตว์ที่นำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับใช้ทำพันธุ์
3. ประเทศต้นทางต้องปลอดจากโรค Avian Influenza (Fowl Plague)
4. ประเทศ เขตหรือพื้นที่ต้นทางต้องปลอดจากโรค Newcastle Disease, Parvovirus Infection, Avian Encephalitis, Duck Plague, Salmonellosis (Salmonella typhimurium และ S.enteritidis)
5.ไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกต้องมีกำเนิดมาจากโรงเรือนที่มีการควบคุมโรคสัตว์ปีกเป็นอย่างดี ลูกสัตว์ปีกจะต้องมีสุขภาพดี เหมาะสมต่อการขนส่งหรือเดินทาง และปลอดจากโรคติดเชื้อใด ๆ รวมทั้งพยาธิภายนอกในช่วงเวลาที่ส่งออก
6. ไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกต้องมาจากฝูงสัตว์ที่ได้รับการรับรองว่าปลอดโรคอุจจาระขาว (pullorum-free flock)
7. ฝูงสัตว์ปีกที่ปลอดจากโรคอุจจาระขาว (pullorum-free flock) อย่างเป็นทางการหมายความว่าสัตว์ปีกทุกตัวในฟาร์มนั้นที่มีอายุมากกว่าสี่เดือน ต้องให้ผลทดสอบเป็นลบ (negative) ทุกครั้งต่อการตรวจเลือดสองครั้งในระยะห่างกันยี่สิบเอ็ดวัน การสุ่มตัวอย่างตรวจควรจะดำเนินการเพื่อที่จะมั่นใจว่าฟาร์มได้ปลอดจากโรคนี้ การตรวจแยกเชื้อ Salmonella pullorum ควรใช้วิธีที่ยอมรับหรือวิธีที่แนะนำโดย OIE International Animal Health Code
8. ระยะหกเดือนก่อนการส่งออกสถานที่เลี้ยงสัตว์หรือโรงเรือนต้นทางสัตว์จะต้องไม่มีประวัติของการเกิดโรค หรือแสดงอาการหรือวิการของโรคดังต่อไปนี้คือ โรคNewcastle Disease, Infectious Bursal Disease (Gumboro), Infectious Bronchitis, Avian Encephalomyelitis, Egg Drop Syndrome'76, Mycoplamosis (การติดเชื้อจาก Mycoplasma gallisepticum และ Mycoplasma synoviae), Marek's disease, Parvovirus Infections, Viral Arthritis, Infectious Anemia, Fowl Cholera, Salmonellosis และ Pullorum Disease นอกจากนี้สำหรับเป็ดจะต้องปลอดจากโรคดังนี้คือ Duck virus Hepatitis, Duck Virus Enteritis, Parvovirus Infection, Anatipestifer Infection (New Duck Syndrome) และ Ornithosis ซึ่งไข่ฟักหรือสัตว์ปีกจะต้องไม่สัมผัสกับโรคเหล่านี้
9. ไข่ฟักหรือลูกสัตว์ปีกต้องมาจากโรงฟักที่มีการจัดการ ขั้นตอนเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและโรคสัตว์ที่ได้รับการรับรองโดยสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นไปตาม ข้อกำหนดของ OIE International Animal Health Code
10. ตู้ฟักไข่ต้องทำการทำลายเชื้อโรคและรมยาฆ่าเชื้อก่อนนำไข่เข้าฟัก และไข่ฟักที่จะนำเข้าตู้ฟักไข่ดังกล่าวได้จะต้องเป็นไข่ฟักที่มาจากฟาร์มที่ปลอดจากโรคอุจจาระขาว (pullorum-free flock) เท่านั้น
11. ลูกสัตว์ปีกที่จะส่งออกมายังประเทศไทยจะต้องมาจากฝูงพ่อแม่พันธุ์ที่อยู่ที่ประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่อง และฟักในโรงเรือนที่ได้รับการรับรองเพื่อการส่งออกมายังประเทศไทย
12. ไข่ฟักหรือลูกสัตว์ปีกที่ฟักได้จากตู้ฟักจะต้องนำมาบรรจุโดยการใส่ในกล่องหรือภาชนะที่ยังไม่ได้ใช้และไม่ได้สัมผัสกับไข่ สัตว์ปีกหรือนกที่มีสถานะของสุขภาพสัตว์ต่างกัน
13. เมื่อสัตว์มาถึงท่าเข้าของประเทศไทยจะต้องถูกกักกันภายหลังการนำเข้า ณ สถานกักกันที่ได้รับการรับรองเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน สัตว์ที่อยู่ในระหว่างการกักกันสัตว์จะถูกตรวจสอบและหรือ รักษาตามที่เห็นสมควรและจำเป็น ผู้นำเข้าหรือเจ้าของเป็นผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระหว่างการกักกันสัตว์
14. การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้าอาจส่งผลให้ต้องดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางหรือทำลายซึ่งสัตว์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าชดใช้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนควบคุมการเคลื่อนย้ายและกักกัน สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพ 10400
Tel. (02) 653-4444 ต่อ 4174,4175,4177-4179 Fax. (02) 653-4865