เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ Black Baza(Aviceda leuphotes)รูปร่างลักษณะ เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ความยาวจากปลายปาก จด ปลายหาง 31.5 - 33 ซม.
นกโตเต็มวัย นกตัวผู้ และ นกตัวเมียคล้ายกัน ลักษณะเด่น คือ เป็นเหยี่ยวขนาดเล็ก - กลาง หัวสีดำ มีขนหงอนตั้งชันขึ้น เห็นได้ชัด เมื่อนกเกาะ ขนหงอนจะตั้งชันขึ้น ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่สีดำ มีขีดสีขาวประปราย บริเวณขนคลุมไหล่ และปื้นสีน้ำตาลบริเวณขนปีกบินชั้นนอก โดยที่ขนปีกบินชั้นนอกมักมีขีดสีขาว และ น้ำตาลแดง ปะปนกัน คอสีดำ อกส่วนบนใต้คอเป็นแถบครึ่งวงกลมสีขาว ตัดขอบด้วยด้วยบริเวณแคบๆที่เป็นสีดำ อกส่วนล่าง พื้นขนสีขาว มีลายแถบถี่ๆ สีน้ำตาล หรือ น้ำตาลอมส้มเป็นขีดขวางลำตัว ลงไปตลอด ทั้งท้อง ส่วนล่างสุด ของลำตัว โคนขา และ ขนคลุมใต้หาง สีดำ ในขณะกางปีกบิน ขนคลุมบริเวณหัวปีก ใต้ปีก และ ขนปลายปีกบิน สีดำ ขนปีกบิน ชั้นกลางสีเทา ตัดกับสีพื้น ส่วนใหญ่ ของปีกที่เป็นสีขาวตุ่นๆ ปีกค่อนข้างกลม หางสั้น ชนิดย่อย A . I .leuphtes ที่พบในภาคตะวันตก ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของไทย , ชนิดที่ทำรังวางไข่ในภาคใต้ ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก เฉียงใต้ ของพม่า ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่ สีน้ำตาลแดง คอสีขาว ลายสีน้ำตาลแดงที่ปีกมีมากกว่า และ ลายขีดสีน้ำตาล อมส้มที่หน้าอกมีน้อยกว่า
นกที่ยังโตไม่เต็มวัย ขนคลุมลำตัวส่วนใหญ่สีคล้ำ หลังและส่วนบนของลำตัวสีอกน้ำตาลอมดำ ลายที่เป็น ขีด สีขาวมีมากกว่าตัวเต็มวัย ลายขีดสีน้ำตาลอมส้มที่ท้อง มีน้อยกว่า ใต้คอสีดำ มีขีดสีขาวแทรกอยู่เต็ม แถบสีขาว รูปครึ่งวงกลมที่คอ จะถูกตัดของด้วยแถบแคบๆสีดำ และต่อด้วยขีดสีน้ำตาลอมส้ม บริเวณท้องแต่ถี่น้อยกว่าตัวที่เต็มวัย
แหล่งอาศัยหากิน พบตามพื้นที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าที่ถูกหักร้างถางพงออกใหม่ๆ ป่าโปร่ง ที่อยู่รอบๆที่ลุ่มน้ำขัง แต่ในฤดูที่มีนกอพยพมา อาจพบในที่ต่างๆได้บ้าง พบตั้งแต่พื้นราบ จนถึงระดับความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล มักพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือ ฝูงขนาดเล็ก โดยเฉพาะในฤดูที่มีนกอพยพมา เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ มีลักษณะการบินหากิน คล้ายกับอีกา โดยร่อน และ บินโฉบเฉี่ยวในลักษณะ ปีก ที่กางออกในระนาบเดียวกับลำตัว ชอบเกาะเด่นๆ ตามปลายกิ่งไม้แห้ง หรือ ยอดสุดของต้นไม้ มักบินในระดับยอดไม้ ที่ไม่สูงมากนัก อาจลงมาโฉบจับ แมลง ที่พื้นดินบ้าง หรือ โฉบจับแมลงตามใบไม้ โดยใช้เท้าขยุ้มจับแบบเหยี่ยว ไม่ใช้ปากจิก แบบนกกินแมลง
อาหาร ส่วนใหญ่ คือ แมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ ตั๊กแตน จักจั่น และแมลงชนิดต่างๆ
ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ อยู่ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เดือน พฤษภาคม นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง รังอยู่บนต้นไม้ ตามง่ามไม้ โดยใช้ กิ่งไม้แห้งสานแบบหยาบๆ มีแอ่งตรงกลางรองพื้นรัง ด้วย ใบไม้สด รังสูงจากพื้นราว 18 - 21 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 -25 ซม. แอ่งตรงกลางลึก 5 - 10 ซม. วางไข่ครอก ละ 2 - 3 ฟอง เปลือกไข่สีขาวอมเทา ขนาด 37.3 X 31 มม. นกทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่ ตั้งแต่ออกไข่ ฟองแรก ใช้เวลา ฟักไข่ประมาณ 21 -23 วัน ลูกนกแรกเกิด มีขนอุยสีขาวปกคลุมตัว พ่อแม่จะ ป้อนด้วยแมลง ชนิดต่างๆ ในระยะแรกจะ ป้อนด้วยปากส่งให้ลูกนก แต่พอลูกนกโตพอสมควร พ่อแม่จะทิ้งอาหารในรัง ให้ลูกนกจิกกินเอง ลูกนกใช้เวลาอยู่ในรัง ประมาณ 30 วัน
การแพร่กระจายพันธุ์ อินเดีย ตอนใต้ , ตะวันออกของ เทือกเขาหิมาลัย , จีนตอนใต้ , สำหรับเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่น ที่พบไม่บ่อย แต่จะพบบ่อยมาก ในพม่า ยกเว้นในเขตเทนเนอซาลิม (ระหว่างมีการ อพยพผ่านของนก จะพบบ้างในบางพื้นที่ของเขตเทนเนอซาลิม ตอนใต้ของพม่า ) , ทุกภาคของประเทศไทย (พบน้อย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) , คาบสมุทรมาลายู , มาเลเซีย , สิงคโปร์ , ภาคกลางของลาว , ภาคตะวันออกของตังเกี๋ย , ภาคเหนือของอันนัม (เวียตนาม )
สำหรับประเทศไทย บางส่วนเป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกที่อพยพ มา นอกฤดูผสมพันธุ์ พบใน แทบ ทุกภาค ของประเทศไทย ยกเว้นพบน้อยมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่พบมักเป็น ป่าโปร่ง ป่าเบญจ พรรณ บริเวณที่โล่ง แต่ต้องมีต้นไม้สูงอยู่ในบริเวณโดยรอบ ในกลางกรุงเทพฯ บริเวณที่พบได้ เช่น พุทธมณฑล , มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเขตศาลายา , สวนหลวง ร. 9 , ในฤดูที่มีนกอพยพมา จะพบ ที่สวนลุมพินี , โรงเรียนวัดชลประทานรังสฎษร์ ปากเกร็ด นนทบุรี แถว สนามหญ้าของ โรงเรียน หรือ ในบริเวณสนามกอล์ฟ , ค่ายลูกเสือกำแพงแสน จ. นครปฐม , มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม , สวนสามพราน จ. นครปฐม บริเวณรอบๆ ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ จ. ชลบุรี เป็นต้น ส่วนที่เป็นนกประจำถิ่น มักพบตาม พื้นที่ที่เป็นป่าละเมาะ ทุ่งโล่ง มักเกาะอยู่ตามกิ่งไม้แห้ง หรือ ยอดไม้ที่ไม่สูงมากนัก บริเวณสวน ที่ถูกทิ้งร้าง และ ยังคงมี ต้นไม้สูง แถบ มีนบุรี และ ในสวนเก่าแถบคลองรังสิต ก็ หานกเหยี่ยว กิ้งก่าสีดำ ที่เป็นนกประจำถิ่นได้ไม่ยากนัก ในอุทยานฯที่เป็นป่าดิบ จะไม่พบ แต่จะพบตาม รอบนอกของอุทยาน ที่เป็นป่าถูกบุกรุก หรือแผ้วทาง จนเป็นทุ่งโล่ง บางส่วน มักพบอยู่รอบๆ แนว เขตอุทยานฯ มากกว่า พบในพื้นที่อุทยานที่เป็นป่าดิบทึบกว่า
ข้อมูล http://www.zyworld.com/NAKARIN/HTMLblackbaza.htm