ลักษณะ
ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีกและขนหางสีดำ ขนหางมีทั้งหมด 14 เส้น
มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม
การกระจายพันธุ์และพฤติกรรม
อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย จัดเป็นอีแร้งที่มีขนาดใหญ่รองมาจากอีแร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) ที่สามารถพบได้แถบเทือกเขาหิมาลัยเช่นเดียวกัน กระจายพันธุ์อยู่ตามแถบเทือกเขาของภูมิภาคเอเชียกลางไปจนถึงจีน โดยปกติจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,500 เมตร เวลาบินหากินจะบินไปจนถึงระดับ 4,500 เมตร หรือสูงกว่านี้ จะหากินเพียงลำพังหรือพบเป็นฝูงเล็ก ๆ เพียง 2-3 ตัว โดยจะหากินตามช่องเขาหรือทางเดินบนเขา หรือบินตามฝูงสัตว์เพื่อรอกินซากของสัตว์ที่ตาย
การขยายพันธุ์และสถานะ
มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยวหรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5-6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง
อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535