เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซียตัวผู้ ตัวเต็มวัยยังหนุ่ม
- เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซียตัวผู้ ขณะเกาะพักอาจจะสับสนกับเหยี่ยวทุ่งอีก ๒ ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยคือ เหยี่ยวทุ่งตัวเมียและเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมีย ด้วยเหยี่ยวทุ่งทั้ง ๓ ชุดขนมีลักษณะคล้ายกัน คือลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลเข้มออกสีกาแฟ (ผันแปรมากขึ้นอยู่กับความสดใหม่ของขนที่พึ่งผลัดได้ หรือว่าเป็นขนเก่าที่สึกหรอ จะซีดลง) กระหม่อมลายสีน้ำตาล มีขนฟูรอบหน้าเหมือนกัน และที่สำคัญขนปีกบินชั้นกลาง (ขณะหุบปีก) มีสีเทาเหมือนกัน ทำให้ถ้าสังเกตไม่ละเอียดหรือเพียงชั่วครู่แล้วเหยี่ยวบินไปเสียก่อนแล้ว อาจจะสับสนได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม มีจุดแยกที่สามารถแยกเหยี่ยวทุ่งทั้ง ๓ ชุดขนออกจากกันได้ไม่ยาก โดยให้สังเกตจุดแยก ๓ ตำแหน่งเรียงตามความสำคัญและความแม่นยำในการอ้างอิง ดังนี้
๑. ขนปีกบินชั้นกลาง (S) ในเหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซียตัวผู้ ขนบนปีกตำแหน่งนี้จะเป็น **สีเทาเรียบไม่มีลายหรือแถบดำ** ดังภาพที่ ๒๐ . แต่ในเหยี่ยวทุ่งตัวเมีย ขนบริเวณนี้จะมีแถบสีดำขนาดใหญ่ ๒-๓ แถบ แต่ให้ระวังสภาพแสงน้อยที่จะทำให้เหมือนกับว่า ขนบริเวณนี้อาจจะเป็นสีน้ำตาลเข้มเรียบก็เป็นได้ ในเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมีย ขนบริเวณนี้จะมีแถบดำคล้ายในเหยี่ยวทุ่งตัวเมีย แต่สีเทาที่เป็นสีพื้นจะเด่นชัดกว่า
๒. บนหาง (R = ขนหางใหม่, oR = ขนหางเก่า) ในเหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซียตัวผู้มีขนหางสีเทา และมักจะไม่มีบั้งสีดำ หรือถ้ามี (อย่างในเหยี่ยววัยหนุ่มในภาพที่ ๒๐.) จะเป็นแถบดำจางไม่เด่นชัด แต่ในเหยี่ยวทุ่งตัวเมียและเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมีย ขนหางจะมีแถบดำเข้มชัดเจน ๔-๕ แถบ
๓. ขนบริเวณโคนขา สีน้ำตาลแดงถึงสีกาแฟ ในเหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซียตัวผู้ (อย่างในภาพที่ ๒๐.) แต่ในเหยี่ยวทุ่งตัวเมียและเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมียโคนขาลาย โดยที่ในเหยี่ยวทุ่งตัวเมียจะมีสีน้ำตาลแดงเช่นกันและช่วงอกเข้มเสมอกับโคนขา แต่ในเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมีย โคนขาลายแต่มีสีพื้นเป็นสีขาวจึงดูโปร่งมากกว่า และช่วงอกและท้องมีลายละเอียดท่ามกลางพื้นสีขาวเช่นกัน ดังนั้นช่วงล่างของเหยี่ยวทุ่งด่างดำขาวตัวเมียจะโปร่งกว่าเหยี่ยวทุ่งตัวเมีย
- เหยี่ยวในภาพผลัดขนปีกแล้วได้ขนปีกบินชั้นนอก (A) ใหม่ที่มีปลายปีกสีดำ ขนปีกบินชั้นกลาง (S) ใหม่เช่นกัน แต่ขนหางยังผลัดไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยที่มีขนหางบางเส้นเป็นขนเก่าของชุดขนวัยรุ่นมีสีน้ำตาลเป็นสีพื้นและมีแถบดำจาง ๆ (oR = old rectrices)) ผสมกับขนหางบางเส้นที่มีสีเทาเป็นขนใหม่กว่า (R)
- สังเกตขนปีกชั้นใน (T = Tertails) และขนคลุมบนปีกชั้นนอก (GWC = Greater wing coverts) สีน้ำตาลสด เป็นขนใหม่ ตัดกับสีเทาของขนปีกบินชั้นกลาง และเมื่อพิจารณาเวลาที่ถ่ายภาพเหยี่ยวตัวนี้ภายในเดือนที่แล้ว ก็สอดคล้องกับการประเมินอายุด้วยชุดขนที่ว่าเหยี่ยวต้องผ่านการผลัดขนมาแล้วทั้งครั้งแรกเข้าสู่วัยรุ่น และครั้งที่ ๒ (เป็นอย่างน้อย) เข้าสู่ชุดขนโตเต็มวัย ในขณะที่ **ถ้า** เป็นเหยี่ยววัยเด็กหรือวัยรุ่นที่ผลัดขนครั้งแรก เพียงบางส่วนเท่านั้น มักจะมีขนปีกชั้นในและขนคลุมบนปีกชั้นนอกเก่าสึกหรอจนมีสีซีดและปลายแตกเป็นฝอย เพราะขนเหล่านี้จะมีอายุข้ามปีจากฤดูร้อนปีที่แล้วที่เหยี่ยวออกจากรัง เนื่องจากขนวัยเด็กที่งอกมาขณะลูกเหยี่ยวเติบโตอยู่ในรังจะเก่าเร็วกว่าขนที่งอกจากการผลัดขนชุดโตเต็มวัย
- สีม่านตาสีเหลือง แต่ออกสีจางเพราะว่าแสงแดดสว่างมาก