Siam Falconry Club
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

Siam Falconry Club

ชมรมผู้ฝึกเหยี่ยวเป็นกีฬาแห่งประเทศไทย
 
บ้านบ้าน  Events  PublicationsPublications  Latest imagesLatest images  สมัครสมาชิก(Register)สมัครสมาชิก(Register)  เข้าสู่ระบบ(Log in)  
Similar topics
    เข้าสู่ระบบ(Log in)
    Username:
    Password:
    เข้าสู่ระบบโดยอัตโนมัติทุกครั้ง(Log in automatically): 
    :: ลืม(forget) password
    ค้นหา
     
     

    Display results as :
     
    Rechercher Advanced Search
    Latest topics
    Navigation
     Portal
     Index
     รายชื่อสมาชิก
     ข้อมูลส่วนตัว(Profile)
     ช่วยเหลือ
     ค้นหา
    Forum

    สร้างหัวข้อใหม่   ตอบ
     

     สัตว์ป่าต้องเพาะพันธ์ (บทความ)

    Go down 
    ผู้ตั้งข้อความ
    nui_rc
    Admin members
    Admin members
    nui_rc


    จำนวนข้อความ : 1047
    Points : 1494
    Join date : 08/08/2010

    สัตว์ป่าต้องเพาะพันธ์ (บทความ) Empty
    ตั้งหัวข้อเรื่อง: สัตว์ป่าต้องเพาะพันธ์ (บทความ)   สัตว์ป่าต้องเพาะพันธ์ (บทความ) EmptyMon Nov 01, 2010 1:53 am

    ความจริงที่ต้องยอมรับในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยในปัจจุบัน

    กระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทยในปัจจุบันนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รุนแรงมาก ซึ่งหากจะพิจารณาแต่เพียงผิวเผินก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วถ้าพิจารณาลงไปในรายละเอียด กระแสอนุรักษ์ดังกล่าว กลับเป็นความน่าสะพรึงกลัวต่อการที่จะต้องสูญเสียสายพันธ์สัตว์ป่าเหล่านั้นอย่างถาวรตลอดไป ทั้งนี้เพราะกระแสอนุรักษ์ดังกล่าวเป็นกระแสอนุรักษ์ที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาข้อเท็จจริง เนื่องจากโดยส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการกระตุ้นความรู้สึกของปวงชนในสังคมให้รักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าเท่านั้น โดยไม่ได้ให้ความสนใจลึกลงไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาซึ่งผลของการอนุรักษ์ในลักษณะเช่นนี้ในระยะยาวกลับจะเป็นผลเสียอันใหญ่หลวง ดังพิจารณาได้จากประเด็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องตามลำดับดังนี้

    1. มนุษย์ทุกคนเป็นผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

    มนุษย์ทุกคนต่างต้องใช้หรือบริโภคทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อสนองปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันยังต้องการปัจจัยที่ 5, 6, 7…..ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่วนเกินอีกมากมายไม่รู้จบ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น ความเป็นจริงข้อนี้ บางท่านที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองที่ไม่เคยเป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยตรงจากธรรมชาติอาจจะยังไม่ยอมรับ โดยอาจจะแย้งว่า “ในปัจจุบันทั้งปัจจัย 4 และปัจจัยส่วนเกินทั้งหมดที่ท่านใช้ ที่ท่านบริโภค ล้วนมาจากกระบวนการผลิตของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่มีการนำทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ ออกมาจากป่าโดยตรงแต่อย่างใด” หากผู้ใดโดยเฉพาะผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าใจเพียงแค่นี้ก็นับว่าเป็นการเห็นแก่ตัว และเป็นสิ่งน่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย ในอันที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งพืชป่าและสัตว์ป่าไปทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัวและจะค่อย ๆ สูญพันธุ์หมดไปในที่สุด หากทุกคนไม่โกหกตนเอง แล้วลองมองพิจารณาสิ่งที่ของเครื่องใช้ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวของท่าน จะพบว่าทุกสิ่งมีที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น เช่น อุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้ ก็ต้องอาศัยการโค่นต้นไม้ใหญ่จากป่ามาแปรรูป ส่วนพวกอิฐ หิน ปูน ทราย แร่ธาตุต่าง ๆ ก็มาจากการขุด การระเบิด หรือการทำเหมืองเอาจากพื้นผิวของโลก พืช ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ ก็ต้องใช้พื้นที่ดินมาทำการเพาะปลูก นอกจากนี้ถนนหนทางในการเดินทาง ขนส่ง ตลอดจนที่อยู่อาศัย ก็ต้องใช้พื้นที่บนผิวโลกด้วย ซึ่งหากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ทุก ๆ อย่างที่มนุษย์บริโภค หรือใช้ประโยชน์ ล้วนแล้วแต่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ดิน หรือพื้นที่บนผิวโลก ยิ่งมีความจำเป็นต้องใช้ในทุก ๆ กิจกรรมของมนุษย์ ฉะนั้น เราทุกคนไม่เว้น แม้แต่ผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติทุกรูปแบบ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าต่างก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในกระบวนการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ อย่างต่อเนื่องซึ่งกัน

    2. ประชากรโลกเพิ่มขึ้น การใช้พื้นที่โลกเพื่อการผลิตย่อมมากขึ้น พื้นที่ป่าย่อมลดลง

    ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่ากล่าวว่า จะไม่สามารถผลิตอาหาร และปัจจัยบริโภคต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการได้ในอนาคตประเทศไทยก็อยู่ในกระแสความเจริญของโลกที่จะต้องเร่งการผลิตในทุก ๆ ด้าน เพื่อป้องกันการขาดแคลนปัจจัยบริโภคต่าง ๆ เช่นกัน และสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ในการผลิตก็คือที่ดิน ( ดังได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 1 ) ดังนี้แล้วจึงจำเป็นที่จะต้องมีการใช้พื้นที่ดินเพื่อการผลิตต่าง ๆ มากขึ้นตลอดเวลา ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกคนในสังคมต่างก็บริโภคผลผลิตที่เกิดจากการใช้ที่ดินนั้น ๆ

    เนื่องจากพื้นที่โลกมีเท่าเดิม และพื้นที่ประเทศไทยก็มีเท่าเดิมเช่นกัน ดังนั้นการขยายพื้นที่ดินเพื่อการผลิตของมนุษย์แท้จริงแล้วก็คือ การบุกรุกพื้นที่ถิ่นอาศัยหรือถิ่นกำเนิดเดิมของพืชและสัตว์ป่านั่นเอง การบุกรุกดังกล่าวมีทั้งที่ทำการอย่างถูกต้องโดยภาครัฐ และการลักลอมบุกรุกทำลายโดยชาวบ้านหรือนายทุนเอกชน แต่ไม่ว่าจะถูกกระทำโดยภาครัฐหรือภาคราษฎร์ก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อพืชและสัตว์ป่าก็คงเป็นไปอย่างเดียวกัน คือ ถิ่นกำเนิด หรือถิ่นอาศัยจะค่อย ๆ ลดลงหรือหมดไป

    พืชและสัตว์ป่าแต่ละชนิดจะมีความต้องการสภาพแวดล้อมหรือถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน ที่สำคัญได้แก่ ความแตกต่างของระดับน้ำทะเล นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างของสภาพพื้นที่ราบหรือความลาดเอียงของพื้นที่ความแตกต่างของแร่ธาตุในพื้นที่ ความแตกต่างของกระแสลม และอื่น ๆ อันก่อให้เกิดพื้นที่ป่าประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าดิบ ป่าดินเขา ป่าสน ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าชายแลน ทุ่งหญ้า เป็นต้น พืชและสัตว์ป่าบางชนิดจะมีความสามารถในการปรับตัวและกระจายพันธุ์ได้ในหลายพื้นที่ แต่บางชนิดก็อยู่ได้เฉพาะในพื้นที่ป่าบางสภาพท่านั้น สำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมไทย พื้นที่ที่ต้องการมากที่สุดก็คือพื้นที่ราบที่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะสะดวกต่อการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านที่อยู่อาศัยการคมนาคม และใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นเขตพื้นที่ราบต่ำส่วนใหญ่ของประเทศไทย จึงถูกมนุษย์ครอบครองใช้ประโยชน์เกือบทั้งหมด ซึ่งในทางกลับกันก็หมายความว่าพื้นที่ป่าที่ราบต่ำก็คงจะต้องหมดไป ก่อนพื้นที่ประเภทอื่น และนั่นก็คือสัตว์ป่าที่อยู่ได้เฉพาะในป่าที่ราบต่ำก็คงจะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นั้น ๆ ด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีข้างต้นนี้เป็นเพียงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด แต่โดยข้อเท็จจริง ป่าทุกประเภทต่างก็ถูกมนุษย์บุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่จะถูกบุกรุกช้าหรือเร็วกว่ากัน ตามแต่ทิศทางการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น

    3. พื้นที่ป่าลดลง สัตว์ป่าไปไหน

    จากข้อ 2 เมื่อพื้นที่ป่าลดลงบางคนก็คิดเพียงง่าย ๆ ว่าสัตว์ป่าก็เข้าป่าลึกไป ไม่เห็นจะน่าห่วงตรงไหน แต่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะการที่พื้นที่ป่าลดลงนี้มีผลในทางเลวร้ายต่อสัตว์ป่าหลากหลายประเด็นเหลือเกินซึ่งพอจะสรุปเหตุการณ์ต่อเนื่องให้เห็นได้ง่าย ๆ ดังนี้

    - ขณะที่มนุษย์บุกรุกพื้นที่ป่าเข้าไป พืชป่าย่อมถูกทำลายโดยตรง โดยการถูกแผ้วถาง ตัดฟัน ส่วนสัตว์ป่านั้นส่วนหนึ่งก็ถูกล่าไปพร้อม ๆ กันอีกส่วนหนึ่งก็ต้องหนีไปยังป่าลึกเข้าไป

    - เมื่อขนาดของพื้นที่ป่าลดลง สัตว์ที่หนีจากพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายก็จะเข้าไปแออัดกันอยู่ในพื้นที่ ส่วนที่เหลือทำให้ต้องมีการแย่งชิงอาหารและพื้นที่กันเอง และแล้วในที่สุดก็จะมีสัตว์ป่าเหลืออยู่ในจำนวนเท่าที่พื้นที่ป่าและแหล่งอาหารในป่าส่วนที่เหลือจะรองรับได้ตามสมดุลเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าส่วนเกินก็จะต้องตาย หรือ ถูกกำจัดออกไปด้วยเงื่อนไขธรรมชาติ

    - สัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิดมีอุปนิสัยในการยึดครองพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากิน เมื่อถิ่น อาศัยถูกบุกรกทำลายบางตัวจะตื่นตกใจหนีเข้าไปในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอีกตัวหนึ่งยึดครองพื้นที่อยู่แล้ว ในขณะเดียวกันสัตว์ป่าที่ครองพื้นที่อยู่เดิม เมื่อมีสัตว์ป่าตัวอื่นหลงเข้าไปในเขตที่มันยึดครองมันก็จะต่อสู้ผลักดันให้ไปเสียให้พ้นจากเขตของมัน สุดท้ายก็อาจจะต้องตายจากการต่อสู้นั้น หรือไม่ก็ต้องกลับมาถิ่นเดิมจนต้องตายไปในที่สุดอีกเช่นกันเพราะถิ่นเดิมนั้นถูกแผ้วถางเปลี่ยนแปลง โดยน้ำมือมนุษย์ไปหมดแล้ว

    - สัตว์ป่าแต่ละชนิดมีความต้องการอาหารและถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน เมื่อป่าเดิมที่มัน เคยอยู่อาศัยถูกทำลายลงแม้มันจะหนีรอดไปได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถหาอาหารหรือที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าแห่งใหม่ที่อาจจะแตกต่างไปจากเดิมมาก ๆ ได้ หรือบางชนิดอาจจะพออยู่รอดได้ แต่ก็มีเพียงชั่วชีวิตของมันเท่านั่น เพราะอาจจะไม่มีองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ในขณะนี้คือ การที่ป่าที่ราบต่ำภาคใต้หมดไป กลายเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ ถนนหนทางและหมู่บ้านไปหมดไก่ฟ้านาเขียวที่เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ยังมีมากมายนั้น เดียวนี้แทบจะเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปจากภาคใต้ของเราไปแล้ว เพราะมันเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยหากินอยู่ในป่าที่ราบต่ำ และปรับตัวขึ้นภูเขาไม่ได้ จึงต้องหมดไปในที่สุด อีกตัวอย่างหนึ่งคือนกเงือก ซึ่งจะต้องทำรังออกไข่ในโพรงไม้ขนาดใหญ่ ถ้าไม้ใหญ่ถูกตัดลงหมด ต่อให้วันนี้มีนกเงือกล้านตัว ก็คงจะแก่ตายไปเฉย ๆ ทั้งล้านตัวโดยไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้อีก

    จากข้อมูลความจริงบางประการที่ยกมาข้างต้นคงจะสรุปได้ว่า เมื่อป่าถูกบุกรุกทำลายทั้งพืชและสัตว์ป่าจะต้องตาย เพียงจะตายเร็วในทันทีหรือจะตายช้าเมื่อสิ้นอายุขัย โดยไม่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก สุดท้ายก็คือสูญพันธุ์ไปจากเขตพื้นที่นั้น ๆ หรืออาจถึงขั้นสูญพันธุ์ไปจากโลกนั่นเอง

    4. กระแสสังคมการอนุรักษ์สัตว์ป่าในปัจจุบัน

    กระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าในปัจจุบันพอจะประมวลได้ 2 ประเด็น คือ
    ประเด็นที่ 1 : “สัตว์ป่าต้องอยู่ในป่า” ประเด็นนี้มีความหมายรวมทั้งพืช และทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิดในป่าด้วย

    ประเด็นที่ 2 : “ใครทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายหรือเบียดเบียนธรรมชาติไว้ก่อน” ด้วยเหตุนี้การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จึงถูกจัดอยู่ในกิจกรรมประเภทเดียวกันกับการทำลายสัตว์ป่า

    จากกระแสอนุรักษ์ 2 ประเด็นข้างต้นได้มีผลทำให้พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่แก้ไขใหม่ในปี 2535 มีสาระที่ปิดกั้นกระบวนการปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเกือบทุกทาง ทั้งที่เหตุผลในการแก้ไขก็ได้ระบุไว้ว่า เพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จนทำให้ในขณะนี้การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นชนิดพันธุ์ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยก็แทบจะหมดไปแล้ว จากสถานเพาะเลี้ยงของเอกชนเกือบทุกแห่ง เพราะเป็นการยากลำบากต่อผู้เพาะเลี้ยงในการที่จะต้องปฏิบัติตามข้อปลีกย่อยของกฎหมายดังกล่าว ต่อไปในอนาคต สัตว์ป่าในสถานเพาะเลี้ยงของเอกชนก็คงจะมีแต่เฉพาะชนิดพันธุ์ต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งบางท่านอาจจะพอใจกับแนวทางดังกล่าว และมีความเห็นว่า งานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าควรให้ภาครัฐเท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแนวคิดดังกล่าวนี้แม้จะมีส่วนถูก แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะสัตว์ป่าบางชนิดที่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้โดยง่าย (เช่น กวางป่า เนื้อทราย ไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ งู บางชนิด เสือบางชนิด เป็นต้น) หากเป็นที่ต้องการของตลาด (มีอุปสงค์ หรือ demand) ภาครัฐก็ควรจะผลักดันให้สัตว์ป่านั้น ๆ เข้าสู่ระบบตลาด โดยสนับสนุนให้เอกชนเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อป้อนตลาดต่อไป (สร้างอุปทาน หรือ supply) ซึ่งการผลักดันเข้าสู่ระบบตลาดนี้ จะส่งผลให้เกิดการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวสำหรับภาครัฐนั้น ควรให้ความสำคัญการปกป้องคุ้มครองและเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีตลาดรองรับ (เช่น หมี ช้าง นกเงือกต่าง ๆ นกร้องบางชนิด เป็นต้น) หรือไม่มีตลาดรองรับ (เช่น กบป่า คางคกป่า หนูป่า แมลง บางชนิดที่ถิ่นอาศัยถูกรุกรานใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว เป็นต้น) ก็ตาม มากกว่าการที่จะเอางบประมาณมาเสียไปกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้

    บทสรุปที่ต้องยอมรับ
    ไม่ว่าปัจจุบันแม้จะมีการเรียกร้องต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วยแนวความคิดต่าง ๆ มากมายก็ตามแต่ในเมื่อมนุษย์ยังต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ดิน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งอุปโภค บริโภคต่าง ๆ และจำนวนประชากรมนุษย์ก็เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลาเช่นนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผืนป่าจะต้องน้อยลงและสัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิดจะต้องลดจำนวนลงตามไปด้วย ยิ่งสัตว์ป่าบางชนิดที่อยู่ได้เฉพาะกับพื้นที่ป่าบางสภาพ ก็แทบจะสูญพันธุ์ไปเลยจากพื้นที่ที่ถูกบุกรุกนั้น เมื่อสถานการณ์วิกฤตมาถึงจุดนี้แล้ว ยังปล่อยให้กระแสอนุรักษ์เป็นไปในลักษณะแนวคิดที่บริสุทธิ์แต่ไร้ซึ่งความเข้าใจในต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา โดยไม่ยอมรับว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งในการจัดการเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในปัจจุบันแล้ว ก็ย่อมแน่ใจได้เลยว่า สัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยจะต้องค่อย ๆ หมดไปในแต่ละแหล่งที่มนุษย์บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน และจะเป็นการหมดไปอย่างถาวรด้วย เพราะหมดทั้งในป่าที่เป็นถิ่นกำเนิด และไม่มีเหลือทั้งในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งก็คือการสูญพันธุ์นั่นเอง


    บทความ โดย ฉัตรชัย วิบูลย์รณรงค์
    วนสารฉบับ 100 ปี กรมป่าไม้


    ขึ้นไปข้างบน Go down
     
    สัตว์ป่าต้องเพาะพันธ์ (บทความ)
    ขึ้นไปข้างบน 
    หน้า 1 จาก 1
     Similar topics
    -
    » บทความ เรื่องโรคในลำใส้

    Permissions in this forum:คุณสามารถพิมพ์ตอบได้
    Siam Falconry Club :: FALCONRY :: กฏหมายน่ารู้ (Law)-
    สร้างหัวข้อใหม่   ตอบไปที่: